รู้หรือไม่ว่า ทางหลวง หมายถึงอะไร และในประเทศไทย มีทางหลวงกี่ประเภท

“ทางหลวง” หมายความว่า ทางหรือถนนซึ่งจัดไว้เพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก ไม่ว่าในระดับพื้นดิน ใต้หรือเหนือพื้นดิน หรือใต้หรือเหนืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น นอกจากทางรถไฟ และหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด สะพาน ท่อหรือรางระบายน้ำ อุโมงค์ ร่องน้ำ กำแพงกันดิน เขื่อน รั้ว หลักสำรวจ หลักเขต หลักระยะป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายสัญญาณ เครื่องสัญญาณไฟฟ้า เครื่องแสดงสัญญาณที่จอดรถ ที่พักคนโดยสาร ที่พักริมทาง เรือหรือพาหนะสำหรับขนส่งข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นหรือลงรถ และอาคารหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์งานทางบรรดาที่มีอยู่หรือที่ได้จัดไว้ในเขตทางหลวงเพื่อประโยชน์แก่งานทางหรือผู้ใช้ทางหลวงนั้นด้วย”

ซึ่งตามพระราชบัญญัติทางหลวงได้ กำหนดประเภทของทางหลวงไว้ 5 ประเภท
(1) ทางหลวงพิเศษ
(2) ทางหลวงแผ่นดิน
(3) ทางหลวงชนบท
(4) ทางหลวงท้องถิ่น
(5) ทางหลวงสัมปทาน

(1) ทางหลวงพิเศษ
คือ ทางหลวงที่จัดหรือทำไว้เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษโดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ โดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษตามที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นไว้เท่านั้น อธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง


ปัจจุบัน (2560) มีทางหลวงพิเศษจำนวน 5 สาย คือ

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 5
จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคเหนือ

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6
จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันคือโครงการเส้นทางมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7
จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคตะวันออกซึ่งปัจจุบันคือเส้นทางมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ – ชลบุรี

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 8
จากกรุงเทพมหานครไปยังภาคใต้

ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9
ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร หรือถนนกาญจนาภิเษก 

(2) ทางหลวงแผ่นดิน
คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่ที่สำคัญ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยายบูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงแผ่นดิน ผู้รับผิดชอบและดูแลโครงการคือ กรมทางหลวง ในสังกัดกระทรวงคมนาคม
โดยมีการแยกประเภทไว้ ดังนี้

ทางหลวงแผ่นดินหลัก มี 4 สาย คือ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน 
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท 
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม



ทางหลวงแผ่นดินสายประธานตามภาค โดยจะเป็นทางที่แยกจากทางหลวงแผ่นดินหลัก สังเกตุได้จากจะมีตัวเลขกำกับ 2 ตัวเลข อาทิ
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24

ทางหลวงแผ่นดินสายรองประธาน ที่มีลักษณะโครงข่ายเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลขตัวเดียว หรือสองตัว เข้าสู่สถานที่สำคัญของจังหวัด สังเกตุได้จากจะมีตัวเลขกำกับ 3 ตัวเลข อาทิ 231, 217

ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัด กับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น ในลักษณะการกระจายพื้นที่ให้บริการทางหลวงออกสู่พื้นที่ย่อย แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายระยะทางยาว สังเกตุได้จากจะมีตัวเลขกำกับ 4 ตัวเลข อาทิ 2178

(3) ทางหลวงชนบท
คือ ทางหลวงที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท ซึ่ง อธิบดีกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวงชนบท

(4) ทางหลวงท้องถิ่น
คือ ทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด

(5) ทางหลวงสัมปทาน
คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้ให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน ซึ่งอธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้จัดให้ลงทะเบียนไว้ ณ กรมทางหลวง

ในอดีตกรมทางหลวงเคยมีทางหลวงสัมปทาน 2 สาย ซึ่งหมดอายุสัมปทานไปแล้ว ได้แก่
1. สายเนินหลังเต่า – บ้านทุ่งเหียง ระยะทาง 14.729 กิโลเมตร
(ปัจจุบันกำหนดเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3246)
2. สายบูเก๊ะสามี – ดุซงยอ ระยะทาง 15 กิโลเมตร
(ปัจจุบันกำหนดเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4055)

ปัจจุบัน 2560 กรมทางหลวงมีทางหลวงสัมปทาน 1 สาย คือ ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) บน
ถนนวิภาวดีรังสิต

นอกจากนี้ ทางหลวงเทศบาล และทางหลวงชนบทที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นทางหลวงท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕

ศึกษาเพิ่มเติม
http://www.drr.go.th/sites/default/files/knowledge/070709002.pdf
http://legal.drr.go.th/sites/legal.drr.go.th/files/2_0.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น